โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การปรับตัวคือสิ่งที่ต้องทำทันที และหลีกเลี่ยงไมได้
เรากำลังอยู่ในยุคที่มีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เราเก็บข้อมูลได้ปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่อุปกรณ์เก็บข้อมูลกลับมีราคาถูกลงเมื่อเทียบกับความสามารถในการเก็บ แต่… เราได้ประโยชน์เพียงใดจากข้อมูลที่เราเก็บ…
ความท้าทายคือ “การนำข้อมูลที่มีอยู่ออกมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด”
หลายองค์กรที่มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ต่างมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อมองให้เห็นปัญหา เพื่อมองให้เห็นจุดที่ต้องปรับปรุง ตลอดจนมองให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และอื่นๆ โดยการอิมพลิเม็นท์โครงการ Business Intelligence
เทคโนโลยี Business Intelligence ในยุคปัจจุบัน ทำงานได้ง่ายขึ้นมาก และรวดเร็วขึ้นมาก ทำงานบนฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ สามารถประมวลผลบนหน่วยความจำ (In-Memory) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการหาอินไซต์หรือข้อมูลเชิงลึก(Insights) แทนที่การทำรายงานในรูปแบบเก่าๆ ซึ่งแน่นอนว่ารูปแบบเก่าๆ เรามักจะมีข้อจำกัดในการทำ Visual Analytics ซึ่งก็คือการวิเคราะห์แบบจินตภาพ ในแบบที่เรียกว่าวิเคราะห์ไปด้วยเห็นภาพในหัวไปด้วย ที่ช่วยให้เราสามารถตั้งคำถาม และหาคำตอบลึกลงๆ ไปได้เรื่อยๆ จากข้อมูล จนกระทั่งค้นพบสิ่งที่ต้องการและนำใช้ประโยชน์ได้
IT หรือ Business Users การวิเคราะห์ข้อมูลและการหาอินไซต์ ควรเป็นหน้าที่ของใคร?
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆในอดีต มักจะมีความซับซ้อนในการใช้งาน ดังนั้นผู้ใช้งานที่เป็น Business Users นอกจากจะต้องมีความเข้าใจในข้อมูลเป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องมีทักษะด้านไอทีพอสมควร จึงจะสามารถสร้างรายงานเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลได้ ดังนั้นคนไอทีจึงมักจะตกเป็นผู้ที่ต้องคอยมาสร้างรายงานหรือแดชบอร์ดต่างๆ เพื่อสนองต่อความต้องการของ Business Users
แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง IT และ Business Users มีทักษะที่ไม่เหมือนกัน แตกต่างกันอย่างชัดเจน
ในอดีตเราจึงมักจะเห็น Business Users ต้องพึ่งพาฝ่ายไอที เพื่อสร้างรายงานหรือแดชบอร์ดที่ตนเองต้องการให้ และเขาควรจะต้องแจ้งความต้องการต่างๆอย่างครบถ้วนให้ไอทีทราบ ซึ่งชีวิตจริงก็จะทำได้ยาก เพราะไม่สามารถให้ข้อมูลได้ครบถ้วนทั้งหมด เนื่องจากธรรมชาติของการวิเคราะห์ มักจะเกิดคำถามต่อเนื่องเสมอ เป็นไดนามิกส์ และในมุมกลับกัน ฝ่ายไอทีซึ่งมักจะมีทักษะการใช้เครื่องมือซอฟต์แวร์ต่างๆได้ดีกว่า เข้าใจโครงสร้างการเก็บข้อมูล แต่ก็อาจไม่ใช่เจ้าของข้อมูลโดยตรง จึงไม่สามารถเข้าใจรายละเอียดข้อมูลได้ดีเท่ากับเจ้าของข้อมูล ทำให้เกิดวังวน(loop)ในการสร้าง การรอ และการแก้ไขรายงานกลับไปกลับมา การเสียเวลานานเกินไป ก็ทำให้ธุรกิจเสียโอกาสในการใช้ หรือได้มาซึ่งข้อมูลสำคัญไปอย่างน่าเสียดาย
โดยรวมแล้ว การวิเคราะห์ช้อมูลเพื่อหาอินไซต์ โดยการตั้งคำถามกับข้อมูล คลิ๊กถาม-ได้คำตอบ ไปจนกระทั่งค้นพบสิ่งที่เป็นประโยชน์ จะต้องอาศัยเครื่องมือในลักษณะที่เป็น Visual Analytics และ Interactive Dashboards คือช่วยให้เห็นภาพ และโต้ตอบกับข้อมูลได้ ซึ่งเครื่องมือก็จะต้องมีความง่ายเพียงพอสำหรับ Business Users หรือผู้ที่ต้องทำการวิเคราะห์ข้อมูล เขาจะต้องสามารถใช้งานเครื่องมือนั้นๆได้จริง เพราะท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็น IT หรือ Business Users เมื่อต้องการวิเคราะห์ข้อมูลหาอินไซต์ เขาก็ควรใช้เวลากับการวิเคราะห์ มากกว่าใช้เวลาหมดไปกับการทำความเข้าใจว่า ฟังก์ชั่นของซอฟต์แวร์นั้นๆต้องทำอย่างไร